วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ที่มาแห่งพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                         โรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลาเป็น    โรงเรียนหลวงแห่งแรกในมณฑลปักษ์ใต้  
พระยาสุขุมนัยวินิต  (เจ้าพระยายมราช ปั้น  สุขุม)  ข้าหลวงเทศาภิบาล  ผู้สำเร็จราชการประจำมณฑลนครศรีธรรมราช  และพระยาวิเชียรคิรี  (ชม  ณ สงขลา)ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา  ดำริจัดสร้างโรงเรียนเนื่องในวโรกาสที่ข้าราชการ  พ่อค้าข้าราชการ  พ่อค้า  ประชาชนชาวสงขลา  ประกอบพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าอัครราชเทวี  และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมาร  ในวันศุกร์ที่  1  มกราคม  ร.ศ. 115  มีการบำเพ็ญกุศลและมหรสพสมโภช
พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งพระยาสุขุมนัยวินิตได้รับพระราชทานตั้งแต่ครั้งยังเป็นขุนวิจิตรวรสาส์นถวายพระอักษรภาษาไทย ณ ประเทศอังกฤษ


พระยาสุขุมนัยวินิต  (เจ้าพระยายมราช ปั้น  สุขุม)



พระยาวิเชียรคิรี  (ชม  ณ สงขลา)

           ในมหามงคลกาลครั้งนี้ท่านได้ให้พระเสนาพิพิธข้าหลวงผู้ช่วยรับบริจาคเงินได้เงินสามัคคีสวามิภักดิ์จำนวน  3,940.00  บาท  และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตั้งนามโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่า 
 “มหาวชิราวุธ”  ซึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตในวันที่  12  กุมภาพันธ์  ร.ศ.115  (พ.ศ.2439)


ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ และประทับแรม  ณ เมืองสงขลา  ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนมหาวชิราวุธ  เมื่อวันเสาร์ที่ 17มิถุนายน  พ.ศ.2458ทรงเห็นความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียน  ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างของมณฑลนครศรีธรรมราช  และนักเรียนก็มีน้ำใจรักโรงเรียนโดยแท้จริงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามโรงเรียนว่า  “โรงเรียนมหาวชิราวุธ”ดังเดิม  ด้วยสำนึกในพระบารมีที่ได้ทรงบันดาลใจให้สถาปนาโรงเรียนมหาวชิราวุธขึ้น  นักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ  นักเรียนเก่า  และพสกนิกรชาวสงขลาจึงเริ่มปรารภด้วยความตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ท่านที่จะสถาปนาอนุสรณ์น้อมเกล้าฯถวาย  ดังนั้น  ในวันที่  24  มกราคม  พ.ศ.2521  สมาคมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ  โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา  ด้วยความสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าด้วยผู้หนึ่งมีมติให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์     พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ  พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประดิษฐาน  ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา  เพื่อเทิดทูนพระเกียรติยศ  เพื่อให้ลูกเสือ  นักเรียน  และประชาชนได้สักการะในโอกาสอันสมควร  และเพื่อให้นักเรียน  ครู-อาจารย์  โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา  ได้มีโอกาสน้อมเกล้าฯระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพระปรมาภิไธย  “มหาวชิราวุธ”  เป็นมงคลนามของโรงเรียน
  
สมาคมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ  และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  ได้เริ่มดำเนินงานจัดสร้างตั้งแต่วันที่  21  เมษายน  พ.ศ.  2521  เป็นต้นมา  ซึ่งฯพณฯ  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้าง  โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรในการสำรวจสถานที่ก่อสร้าง  ออกแบบ  และปั้นหล่อพระบรมพระราชานุสาวรีย์
       
ต่อมาในวันที่  7  กันยายน  พ.ศ.2523  ฯพณฯ  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้มาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ  ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา  งานปั้นหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ  ใช้เวลาทั้งหมด  29  เดือน  (14  มีนาคม  พ.ศ.2523 – 14  สิงหาคม  พ.ศ.2525)  เป็นพระบรมรูปขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง  ประทับยืน  ฉลองพระองค์ชุดนายพลเสือป่าม้าหลวง  หล่อด้วยโลหะทาน้ำยาเคมี  กรมศิลปากรได้อัญเชิญเสด็จโดยทางรถยนต์จากกรุงเทพมหานคร  

เมื่อวันที่16สิงหาคม พ.ศ.2525และมาถึงจังหวัดสงขลา  เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม  พ.ศ.2525  อัญเชิญเสด็จเลียบเมืองสงขลา  และอัญเชิญเสด็จสู่แท่นพระที่ภายในโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา


ในวันที่  29 สิงหาคม  พ.ศ.2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ  
โดยฯพณฯ  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ถวายคำกราบบังคมทูลในพิธีและในภาคกลางคืนมีกิจกรรมเฉลิมฉลอง จากคณะครูและ นักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ  คณะลูกเสือจังหวัดสงขลา ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาและกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก 
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงสถิตย์เป็นมิ่งขวัญ และเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งความจงรักภักดี  สามัคคีธรรม  และกตัญญูกตเวทิตาธรรม  แก่ชาวมหาวชิราวุธ  และพสกนิกรชาวไทยสืบมา
อนึ่ง  ในกาลครั้งนี้คณะกรรมการฯได้ติดต่อกองกษาปณ์  กรมธนารักษ์  ผลิตเหรียญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตามแบบที่ได้รับพระบรมราชานุญาต  เป็นที่ระลึก  จำนวน  20,000 เหรียญด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น