วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยุคแรกเริ่ม (พ.ศ.2439-2481)

      เดือนตุลาคม พ.ศ.2439 เจ้าพระยายมราช  (ปั้น  สุขุม) ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยาสุขุมนัยวินิต  ข้าหลวงเทศาภิบาล  สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช  และ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ได้ดำริตั้งโรงเรียนขึ้นและ   ได้เปิดสอนชั่วคราวที่ศาลาการเปรียญวัดดอนแย้  เมื่อวันที่  27  ตุลาคม  2439 โดยมีนักเรียนเพียง 12  คน  
      พระยาสุขุมนัยวินิต ได้ประกอบพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ   สยามมกุฎราชกุมาร  พร้อมทั้งได้อันเชิญพระบรมฉายาลักษณ์  พระบรมโอรสาธิราชฯ  ประดิษฐานไว้บนแท่นบูชา เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ และถวายพระพรชัย ในโอกาสนี้ พระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาวิเชียรคิรี คิดจะสร้างโรงเรียนถาวรขึ้น จึงได้เรี่ยไรเงินประชาชน  ได้เงินมา  3,940  บาท  และเห็นว่าบริเวณที่เหมาะสมในการสร้างโรงเรียนคือ  บริเวณวัดนาถม  ซึ่งเป็นบริเวณโรงเรียนวิเชียรชมในปัจจุบัน พร้อมกันนี้พระยาสุขุมนัยวินิต  ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งนามโรงเรียนว่า  มหาวชิราวุธ และได้ย้ายนักเรียนเก่าที่วัดดอนแย้ไปรวมกับนักเรียนใหม่  ทำการเปิดสอนที่ศาลาชำระความของพระยาวิเชียรคิรี โดยมีนักเรียน 50 คน มีครูทองดีเป็นครูใหญ่   
ชื่อโรงเรียนมหาวชิราวุธจึงเกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2440 การสอนในสมัยนี้ดำเนินการสอนแบบโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  โดยจัดเป็น  3  ชั้น  กล่าวคือ
     ชั้นที่  1  มุ่งให้นักเรียนอ่านออก  เขียนได้
     ชั้นที่  2  เทียบเท่าประโยค 1 ใช้หนังสือภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร  (น้อย  อาจาริยางกูร)
     ชั้นที่  3  เทียบเท่าประโยค  2  ฝึกอ่านและเขียนภาษาไทยให้ดีขึ้น   จนสามารถรับราชการได้    
     ต่อมาครูทองดี  ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย   ย้ายไปปฏิบัติการที่มณฑลปัตตานี    นายเฉยจึงดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน  มีม.ร.ว.ชอุ่ม    เป็นครูรอง และมีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยช่วยกันสอน  ในปี  2442  มีนักเรียนเพิ่มเป็น  80  คน
     ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน  พระรัตนธัชมุณี (ม่วง ศิริรัตน์) ผู้อำนวยการศึกษา
และเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช–ปัตตานี ได้ออกตั้งโรงเรียนตามจังหวัดต่างๆสำหรับที่สงขลาเล็งเห็นว่า  วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)  เหมาะที่จะตั้งโรงเรียนหลวงได้  แต่ทราบว่าพระยาสุขุมนัยวินิตได้ตั้งโรงเรียนไว้แล้วที่ศาลาชำระความพระยาวิเชียรคิรี  จึงปรึกษากันให้ย้ายโรงเรียนมหาวชิราวุธมาไว้       วัดกลาง โรงเรียนมหาวชิราวุธ มาอยู่ในวัดมัชฌิมาวาสโดยใช้ชื่อว่า  มหาวชิราวุธวิทยา  เป็นโรงเรียนหลวงของจังหวัดสงขลา  นับแต่นั้นมา




                        




    ในปี พ.ศ.2448  ได้ย้ายโรงเรียนมหาวชิราวุธไปอยู่ที่โรงพักพลตระเวน  ริมคลองขวาง  (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบังคับการจราจร  สงขลา) เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีมากขึ้น  ที่โรงพักพลตระเวนโรงเรียนมหาวชิราวุธ มีชื่อว่า
มหาวชิราวุธ ในช่วงนี้โรงเรียนมหาวชิราวุธได้จัดการศึกษาตามแนวทางใหม่ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ  และแผนการศึกษาแห่งชาติ  2445  



    ตั้งแต่ปี พ.ศ.2447  ที่วัดนาถมได้มีการสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ  แล้วเสร็จในปี  2448  เนื่องจากว่าขณะนั้นโรงเรียนมหาวชิราวุธตั้งอยู่ที่โรงพักพลตระเวณคลองขวาง   พระยาสุขุมนัยวินิต  จึงใช้เป็นจวนข้าศึกเทศาภิบาลเรียกว่าสัณฐาคาร หมายถึงที่พักชั่วคราวโดยพระยาสุขุมนัยวินิตเข้าพักเป็นคนแรก ต่อมาเมื่อมีการสร้างตำหนักเขาน้อยขึ้น จึงได้คืนสัณฐาคารให้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนมหาวชิราวุธในปี  2457 และโรงเรียนมหาวชิราวุธจึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดนาถมตั้งแต่ปี  2457  เป็นต้นมา


    หลังจากที่โรงเรียนมหาวชิราวุธย้ายมาตั้งอยู่ที่วัดนาถม  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้  ขณะประทับแรม  ณ ตำหนักเขาน้อย  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์  สมุหเทศาภิบาล  นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า “เมื่อวันที่  1  มกราคม  2439  พระยาสุขุมนัยวินิต  พระยาวิเชียรคิรี   และกรรมการจัดการเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช    ในโอกาสนั้นได้เรี่ยไรเงิน  สร้างโรงเรียนขึ้น  และพร้อมกันขนานนามว่า  มหาวชิราวุธ   จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงพระราชวินิจฉัยว่าการจะควรประการใดด้วยพระมหากรุณาธิคุณทรงมีพระราชหัตถเลขาแจ้งมาว่า “โรงเรียนตั้งมานานปี  มีผู้สำเร็จการศึกษาจบออกไปทำประโยชน์แก่บ้านเมืองมากแล้ว  จึงอนุมัติให้คงใช้ชื่อเดิมต่อไป”  โรงเรียนมหาวชิราวุธจึงเป็นโรงเรียนที่ได้รับพระราชทานชื่อจากองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง  นับแต่ปี  2458  เป็นต้นมา  

    ในปี 
พ.ศ. 2457 และ  พ.ศ. 2458   โรงเรียนมหาวชิราวุธขาดครูใหญ่  ธรรมการมณฑลจึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการและแต่งตั้งให้นายโชติ เหมะรักษ์ (ขุนวิจารณ์จรรยา)  วุฒิ ป.ป. และนายพิณ เจาฑะเกษตริน(ขุนดรุโณวาท)  วุฒิ  ป.ป.  รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ถัดกันมาตามลำดับ
 

   พ.ศ.2459  หลวงพณิชยสารวิเทศ(ผาด  มนธาตุผลิน)  วุฒิประกาศนียบัตรพณิชยการ  จากประเทศอังกฤษ  ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมหาวชิราวุธ  ในช่วงนี้โรงเรียนจึงได้เปิดการทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถม(ป.1 – ป.3)  จนถึงมัธยม(ม.1 – ม.6)  และเริ่มสอนถึงม.6 เป็นครั้งแรก  ได้รับฐานะเป็น “โรงเรียนตัวอย่างมณฑลนครศรีธรรมราช” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2459 – 2468
    5 ปีต่อมาโรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้รับงบประมาณแผ่นดินครั้งแรก  6,000 บาท สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก  1  หลังเป็นอาคารชั้นเดียวเรียกอาคาร 2460


    พ.ศ.2464  ในปีเดียวกันสะเดา เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว6 ห้องเรียน ย้ายนักเรียนชั้น ม.4 – ม.6 ไปไว้ที่อาคารหลังนี้  ในปีนี้หลวงพณิชยสารวิเทศย้ายกลับกรุงเทพ หลวงปิยวิทยาการ (เปีย  แย้มพลอย)   ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน  2465  ได้ทดลองเปิดสอนชั้นมัธยมปีที่  7   ขึ้นใน พ.ศ.2467  และสองปีถัดมาในวันที่ 17 พฤษภาคม ได้เปิดสอนมัธยมปีที่ 8  เป็นครั้งแรกมีนักเรียน 2 คน  



    ในปี พ.ศ.2470 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรัฐบาลให้ยุบชั้นมัธยมปีที่ 7 และ  8 โรงเรียนมหาวชิราวุธเปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ 7  อีกครั้งในปี  2472  และในปีนี้ได้โอนนักเรียนและอาคารเป็นที่วัดนาถ  ให้เป็นโรงเรียนประชาบาล  จึงต้องย้ายนักเรียนมัธยมปีที่  1 - 3  มาไว้ที่ถนนสะเดาด้วย


    นายประเวศ จันทนะยิ่งยง  ย้ายมาเป็นครูใหญ่ ได้พัฒนาโรงเรียนในหลายด้านกล่าวคือ
    ด้านวิชาการ  เปิดสอนถึงชั้นมัธยมปีที่  8  ในปี  2473  ทำให้อาคารเรียนมีไม่เพียงพอ  ในปี  2474  จึงได้ต่อเติมอาคารไม้  ห้องประชุมเสือป่า  ถนนสะเดา  เป็นรูปตัว  U  ได้  8  ห้องเรียน
    ด้านกีฬา  ส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล
    ด้านจิตใจ 
ส่งเสริมให้นักเรียนรักศักดิ์ศรีของโรงเรียน  และสามัคคีธรรม  โดยใช้วิธีการต่างๆ  เช่น  กำหนดกางเกงและผ้าขลิบคอเสื้อนักเรียนเป็นสีน้ำเงิน  เพื่อให้ระลึกถึงศักดิ์ศรีของมหาวชิราวุธ  อันเป็นนามของพระมหากษัตริย์     

           


       พ.ศ.2476  เกิดกบถบวรเดช  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบรมราชินี  และพระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักเขาน้อย  จึงมีนักเรียนที่ตามเสด็จจากกรุงเทพฯ หลายคนได้เข้ามาเรียนในชั้นต่างๆ เป็นการชั่วคราว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบรมราชินีได้เสด็จมาเยี่ยมโรงเรียน  ทรงทอดพระเนตรการสอน ยังความตื้นตันใจมาสู่ชาวมหาวชิราวุธเป็นอย่างยิ่ง
   
      พ.ศ.2477  มีนักเรียนถึง  613  คน  ทำให้อาคารเรียนไม่เพียงพอ  หลวงชัยจิตรกรรมจึงได้ของบประมาณสร้างอาคาเรียนเพิ่มขึ้นอีก  คือ  ปี 2478 สร้างอาคารไม้  2  ชั้น  12  ห้องเรียนในบริเวณหอสมุดติณสูลานนท์ในปัจจุบัน
      หลวงจิตรกรรม ได้รวมศิษย์เก่าเข้าไว้ด้วยกัน  โดยก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ  ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย  ณ วันที่  20  พฤศจิกายน  2477  พร้อมกันนี้ยังได้ออกแบบ  วชิราวุธ  เป็นเครื่องหมายของโรงเรียน  และกำหนดสุภาษิตประจำโรงเรียนว่า  รกฺขาม  อตฺตโน  สาธุ  (พึงรักษาความดีของตนไว้)

    ปี 
พ.ศ.2479  ได้ประกาศใช้แผนการศึกษา  2479  ขึ้น โดยมีชั้นประถมศึกษา  4  ชั้น ชั้นมัธยมศึกษา  6  ชั้น  คือ  มัธยมต้น  3  ชั้น  มัธยมปลาย  3  ชั้น  และชั้นเตรียมอุดมศึกษา  2  ชั้น  จึงจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ ตามแผนการศึกษาชาติฉบับนี้ ชั้นม.7 และ ม.8  จึงต้องยกเลิกไป ในปีนี้หลวงจิตรกรรมย้ายไปรับราชการกรุงเทพ  หม่อมหลวงพันธ์  ศิริวงศ์  ผู้ช่วยครูใหญ่จึงขึ้นดำรงตำแหน่งครูใหญ่

    หลังจากนั้น 2 ปี ม.ล.พันธ์  ศิริวงศ์  ย้ายเข้ากรุงเทพฯ หม่อมเจ้าศิรากร วรวรรณ ทรงดำรงตำแหน่งครูใหญ่  แต่ไม่ถึงปี  ช่วงระยะที่ไม่มีครูใหญ่  นายนิตย์  นพคุณ  ได้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่


อ่านต่อ > โรงเรียนยุคสงคราม (พ.ศ.2483-2487)
.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น